เมื่อพูดถึงสถานที่ที่มีความชุ่มชื้นและให้ความสดชื่นเราก็คงนึกถึงป่าที่มีต้นไม้ใบหญ้าสีเขียวชะอุ่ม นอกจากสีเขียวจะเป็นสีที่ช่วยเยียวยาทำให้จิตใจของเราสงบแล้ว อย่างที่เราทราบกันดีว่าต้นไม้นั้นช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปล่อยก๊าซออกซิเจนออกมาเป็นเหตุผลที่ทำให้เรารู้สึกสดชื่นเมื่ออยู่ใกล้ต้นไม้หรืออยู่ในป่านั่นเอง ในประเทศไทยนั้นเมื่อก่อนเราคงเคยได้ยินคำว่าภูเขาหัวโล้นซึ่งเป็นภูเขาที่ถูกตัดต้นไม้ในป่าจนต้นไม้แทบไม่เจริญเติบโต แต่ก็ยังมีป่าอีกหลายแห่งที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์เอาไว้ได้อยู่ไม่ว่าจะเป็นตามอุทยานแห่งชาติต่างๆ และมีอีกหลายที่ที่รณรงค์การปลูกป่าเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมให้กลับมาอุดมสมบูรณ์เช่นเดิม วันนี้เราจะพาทุกคนมาศึกษาประเภทของ ป่าในประเทศไทย ว่ามีป่าไม้แบบใดบ้าง โดยการแบ่งลักษณะของป่านั้นประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนจึงแบ่งลักษณะของป่าไปตามความชุ่มชื้น โดยวัดจากระยะ เวลาที่ฝนตกและปริมาณน้ำฝน ซึ่งแยกออกได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆคือ ป่าไม้แบบผลัดใบ และ ป่าไม้แบบไม่ผลัดใบ
ป่าในประเทศไทย : ป่าไม้แบบผลัดใบ
ป่าไม้แบบผลัดใบก็คือต้นไม้ที่มีความเขียวชอุ่มชุ่มชื้นในหน้าฝนแต่เมื่อเข้าหน้าแล้งต้นไม้เหล่านี้ก็พากันสลัดใบทิ้งการที่ป่าโปร่งขึ้นนี้เองจึงทำให้ความร้อนส่องลงมาด้านล่างได้มากขึ้นทำให้อุณหภูมิในป่าสูงขึ้น หากอุณหภูมิในป่ามีความร้อนจัดเมื่อรวมกับใบไม้แห้งที่ต้นไม้สลัดใบทิ้งลงมาจึงเป็นสาเหตุให้เกิดเหตุไฟไหม้ป่าได้บ่อยๆนั่นเอง ป่าที่อยู่ในประเภทป่าไม้แบบผลัดใบประกอบไปด้วย ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าหญ้า ป่าเบญจพรรณเป็นป่าโปร่งและมีไผ่ต่างๆขึ้นอยู่กระจัดกระจาย หากเป็นภาคเหนือมักจะมีไม้สักขึ้นปะปนอยู่ด้วย ในตอนล่างตั้งแต่จังหวัดกาญจนบุรีลงมาจะมีป่าเบญจพรรณน้อยมาก ต่อมาป่าเต็งรัง มีชื่อเรียกอื่นๆว่า ป่าแดง,ป่าแพะ,ป่าโคก ลักษณะเป็นป่าโปร่งพื้นป่าจะมีต้นไม้ที่เรียกว่าต้นโจด,ต้นแปรง,หญ้าเพ็กขึ้นอยู่ทั่วไป ส่วนมากจะอยู่บนภูเขาที่แห้งแล้งของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สุดท้ายคือป่าหญ้า ป่าชนิดนี้อยู่ทุกที่ที่ป่าถูกทางทำลายและขาดความอุดมสมบูรณ์หรือถูกทอดทิ้งร้าง
ป่าไม้แบบไม่ผลัดใบ
ป่าไม้แบบไม่ผัดใบนี้ตามชื่อก็คือเป็นป่าที่มีความเขียวชอุ่มตลอดปีไม่ทิ้งใบป่าที่อยู่ในประเภทนี้ประกอบไปด้วยป่าดิบชื้น,ป่าดิบแล้ง,ป่าดิบเขา,ป่าสนเขา,ป่าชายเลน,ป่าพรุ,ป่าชายหาด เริ่มกันที่ป่าดิบชื้น เป็นป่าที่มีต้นไม้ขึ้นอยู่อย่างเบียดเสียด ป่าประเภทนี้มีกระจายอยู่ทั่วประเทศโดยมีมากที่สุดแถบชายฝั่งตะวันออกและภาคใต้ ต่อมาป่าดิบแล้ง อยู่ในพื้นที่ค่อนข้างราบหรือตามหุบเขา มักอยู่แถบภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมาป่าดิบเขา ป่าชนิดนี้ขึ้นอยู่ในพื้นที่สูงหรือบนภูเขาตั้งแต่หนึ่งพันเมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป ต่อมาป่าสนเขา อยู่ตามภูเขาสูงเช่นกันพบตั้งแต่สองร้อยเมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป มักพบมากในภาคเหนือ ต่อมาป่าชายเลน อยู่บริเวณดินเลนริมทะเลหรือบริเวณปากแม่น้ำใหญ่ก่อนไหลลงสู่ทะเล ตามชายทะเลภาคตะวันออกมีอยู่ทุกจังหวัด ต่อมาป่าพรุ ป่าชนิดนี้มักอยู่ในบริเวณที่มีน้ำจืดท่วมมากๆดินระบายน้ำได้ไม่ดี มีลักษณะโปร่งและมีต้นไม้ขึ้นอยู่ห่างๆ มีอยู่ในภาคกลางและภาคใต้ สุดท้ายป่าชายหาด เป็นป่าโปร่งที่อยู่ตามชายหาดชายทะเลในบริเวณที่น้ำทะเลขึ้นไม่ถึง